วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ก๋วยเตี๋ยวปากหม้อ กุยช่าย และโบสถ์เก่า


รสชาติอาหารทีติดปาก ถึงขั้นตายจากก็ยากจะลืมนั้น ทำให้ฉันวกกลับมาเที่ยวที่เมืองพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา อีกครั้ง น้องนุ่งที่ชวนออกทริปด้วยให้โจทย์ว่า "ไปทำบุญกันนะพี่" พอเราให้โพยเขาไปว่าต้องแวะสเตชั่นไหนบ้าง เขาย้อนถามเรามาในทันใดว่า "ทัวร์อร่อยหรือทัวร์ทำบุญกันละเนี่ย"
ฉะเชิงเทราเป็นเมืองใกล้กรุงที่น่าเอ็นดู สะพรั่งด้วยวัดและสมบูรณ์ด้วยอาหารการกิน ที่สำคัญคือมีวัฒนธรรมการกินแบบพื้นถิ่นที่มีเอกลักษณ์แสนจะน่ารัก ดูอย่างขนมกุยช่ายเจ๊อิมที่ขึ้นชื่อของเกาะขนุน ตอนที่ฉันกินครั้งแรก อูยยย...ตัวเดียวนุ่มลิ้นลื่นลงคออย่างง่ายดาย รสชาติติดปากตายจากไม่เสียดาย หนึ่งกล่องที่เขาแพ็คขายมี 10 ตัว ขายในราคา 20 บาท มีไส้กุยช่าย ไส้เผือก และไส้หน่อไม้ อร่อยทุกไส้ทุกรส ดูภาพเอาเองนะคะว่าชวนตามติดไปลิ้มชิมรสกันขนาดไหน เอาเป็นว่า หากวันใดคุณอยากออกทริปไปเที่ยวฉะเชิงเทรา ก็ให้ยึดทางหลวงหมายเลข 314 แล้วเกาะถนนหมายเลข 304 ไว้ ฉันอาศัยเส้นทางมอเตอร์เวย์ค่ะ สะดวกดี พอเห็นป้ายฉะเชิงเทราก็เลี้ยวเข้าไปเลย พอถึงสามแยกที่มีป้ายบอกทางเยอะแยะ ถ้าตรงไปคือเข้าตัวเมืองฉะเชิงเทรา แต่เราไม่เข้านะคะ เราจะไปอำเภอพนมสารคามค่ะ จับตาดูคำว่า พนมสารคาม ไว้อย่าให้คลาดสายตา และอย่าได้ถามถึงระยะห่างใกล้ไกล เพราะคนขับไม่ได้จับระยะกิโลไว้ ฉันอาศัยเขานั่งมาด้วยเลยต้องเจียมตัว ไม่โน่นนี่นั่นมากนัก เดี๋ยวเขาจะหย่อนเราลงก่อนได้กินของอรอ่ย
เอาเป็นว่าฉันออกจากบ้าน 9 โมงเช้า ไปถึงโน่นเกือบ 10 โมง ขับช้าๆ สโลว์ไลฟ์สโลว์ทริป ไม่รู้จะรีบร้อนให้หัวใจเต้นอึกทึกไปทำไม สี่แยกแรกที่ถึงคือ สี่แยกคอมเพล็กซ์ ชื่อเดิ้นเป็นฝรั่งเพราะว่ามีห้างเพล็กซ์ๆ อะไรนี่แหละตั้งอยู่ตรงหัวมุมแยกพอดี แยกนี้เราไม่แวะค่ะ ให้พุ่งตรงต่อไปถึง สี่แยกหน้าซึ่งจะเป็นสี่แยกบางคล้า แยกนี้เราไม่วอกแวกอีก ให้พุ่งตรงไป แยกหน้าที่หมายมั่นคือแยกไปอำเภอพนมสารคาม แยกนี้ให้สังเกตโลตัสและตึกที่มีหอไอเฟลอยู่ฝั่งขวามือ ถ้าเลี้ยวซ้ายก็เข้าเมืองไปกินก๋วยเตี๋ยวปากหม้อ เมืองพนมสารคาม ถ้าเลี้ยวขวาจะได้กินกุยช่ายชื่อดังของตำบลเกาะขนุน ฉันสะกิดคนขับออกคำสั่งเสียงโหยว่าไปซื้อกุยช่ายกลับบ้านก่อนดีกว่า โทรไปที่เบอร์ 038-551-722 / 087-1403693 สั่งเขาไว้ล่วงหน้าแล้ว ไปถึงก็โฉบรับของกินลัลล้าสบายใจ




ทางไปร้านกุยช่ายเจ๊อิมนั้นไม่ยากค่ะ เลี้ยวขวาตรงสี่แยกที่มีหอไอเฟลเข้าไปประมาณ 4-5 กิโลได้ สังเกตว่าทางถนนจะเป็นสี่เลน พอแล่นๆ ไปลดยวบเหลือสองเลนก็ให้ชะลอรถได้แล้ว จะมีป้ายร้านกุยช่ายเล็กๆ บอกเป็นระยะๆ ให้สังเกตซอยเทศบาล 1 ด้านขวาเป็นซอยเล็กๆ อีกเช่นกัน อย่าได้จินตนาการอะไรใหญ่โต คนเขาอยู่กันแบบพอเพียงพอดีก็สร้างอาหารรสชาติอร่อยติดปากได้ พอเข้าซอยไปปุ๊บก็วิ่งเหยาะๆ ไปสุดซอย บ้านหลังซ้ายมือคือถิ่นกำเนิดกุยช่ายเจ๊อิมดังในรูป เขาตื่นกันตั้งแต่ตีสามตีสี่มานวดแป้งสอดไส้แล้วนึ่งพร้อมจัดลงใส่กล่องให้คนรับประทาน



ได้กุยช่ายมาครองแล้วออกรถได้ ให้เลี้ยวซ้ายเพื่อไปหาซอยออกถนนหลักได้เลยค่ะ จากนั้นก็ตรงดิ่งผ่านสี่แยกเก่าเพื่อมุ่งหน้าไปกินก๋วยเตี๋ยวปากหม้อกันต่อ ร้านที่ฉันปักหลักไปกินประจำอยู่เลยเซเว่นฯ ทางซ้ายมือไปหน่อย สังเกตป้ายทางขวามือ ตรงซอยสุขาภิบาล 4 มีก๋วยเตี๋ยวปากหม้ออร่อยท้าพิสูจน์รอฉันอยู่ตรงนั้น ฉันชอบอุดหนุนก๋วยเตี๋ยวปากหม้อร้านคุณพัฒน์ เพราะชอบอัธยาศัยคู่สามีภรรยาคนทำ ยังหนุ่มสาวกันอยู่เลยนะคะ ตอนไปถึงสิบโมงนิดหน่อย เขาเพิ่งจะตั้งร้านกัน เราก็ยินดีนั่งรอเขาตั้งหม้อน้ำซุปก๋วยเตี๋ยว
ส่วนคุณอ้อน-ภรรยาก็จัดแจงควัก เอ๊ย..จัดวางไส้ปากหม้อที่มีหลากหลาย พร้อมวางตั้ง วัฒนธรรมการกินก๋วยเตี๋ยวปากหม้ออันเป็นเอกลักษณ์พื้นถิ่นของเมืองนี้ก็เริ่มขึ้นในไม่ช้าไม่นาน บอกแล้วไงคะว่าไม่รีบ

ฉันเคยถามจากคุณอ้อนว่า ก๋วยเตี๋ยวปากหม้อมีความเป็นมายังไง เธอก็เล่าว่าเกิดมาก็เห็นแล้ว ปากหม้อหรือก๋วยเตี๋ยวไม่รู้ว่าอะไรเกิดก่อนกัน แต่การหย่อนปากหม้อปาดสดๆ จากหม้อลงชามก๋วยเตี๋ยว คนกินคนทำมีส่วนร่วมในการกิน คนทำหย่อนปากหม้อลงชามที่มีน้ำซุป ในหม้อน้ำซุปมีตีนไก่ ซี่โครงหมู เลือดหมู ลูกชิ้น จะกินไรก็ออเดอร์เขาไป พอได้น้ำซุปที่มีของเคียงดังกล่าวที่พึงใจ ทีนี้ก็หันไปสั่งคนทำปากหม้อว่าต้องการไส้อะไรบ้าง เดี๋ยวเขาก็จะจดจำไส้ต่างๆ ค่อยๆ ปาดแป้งสุดจากปากหม้อพร้อมไส้มาหย่อนลงชามให้
เรากินทีละตัวๆๆๆ คิดดูสิคะ การนั่งล้อมวงกินก๋วยเตี๋ยวปากหม้อที่มีคนทำนั่งเด่นเป็นนางเอกตรงกลาง คอยจดจำไส้ปากหม้อที่คนสั่งแล้วค่อยๆ ปาดลงชามนู้นทีชามนี้นี้ ช่างเป็นวัฒนธรรมการกินที่น่ารักอย่าบอกใคร ฉันเคยเห็นเมืองกรุงเอาวัฒนธรรมการกินนี้มาเปิดกิจการทำมาค้าขาย แป๊บเดียว เอ๊า..หายวับไปแล้ว เลยคิดเองออเองว่า วัฒนธรรมละเมียดปากหม้อที่หย่อนลงในชามก๋วยเตี๋ยวคงไม่ถูกจริตคนกรุงในเมืองหลวงที่ใช้ชีวิตเร่งด่วน ในเมื่อซ้ายหันขวาหันมีตัวเลือกในเรื่องอาหารการกินตั้งเยอะ ช้าๆ ปาดปากหม้อลงชาม คงไม่ได้เงินงามๆ มาครองชีพแบบรวยเร็วในพริบตาได้ ดังนั้นก็เลิกดีกว่า

อิ่มท้องแล้วก็ไปเดินย่อยกันที่ตลาดน้ำบางคล้ากันต่อนะคะ ขับรถตรงไปเลย ไม่ต้องวกกลับทางเดิม พุ่งตรงไปเรื่อยๆ ชมวิวนาข้าวเขียวครึ้มสักแป๊บก็จะถึงตลาดน้ำบางคล้า เดินเล่นเพลินใจปุ๊บแป๊บเสร็จก็ถึงเวลาทำบุญกันซะที วัดที่จับยามสามตาเสี่ยงไปกันเป็นวัดที่สงบเงียบ รื่นรมย์ในวิถีของวัดพัฒนา วัดเสม็ด อยู่ตรงสี่แยกบางคล้า บนถนนสายหลัก หาไม่ยากค่ะ เส้นทางถนนขาไปทำให้เราคุ้นดีอยู่แล้ว ไม่ต้องกลัวหลง เราเจอวัดนี้ขากลับเข้ากรุง พอเจอสี่แยกบางคล้าปั๊บก็เลี้ยวซ้าย เข้าไปอีกนิดก็ถึงแล้ว ไปกราบไหว้พระสิวลี และเดินเข้าไปชมโบสถ์ร้อยกว่าปี ความอิ่มท้องที่ได้ยังไม่เท่ากับอิ่มทิพย์จากความร่มเย็นในรั้วธรรม ใครที่มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยมาประคับประคองดูแลโบสถ์ล้ำค่าแห่งนี้กันด้วยนะคะ อย่าให้สูญหาย วัฒนธรรมอันเป็นมรดกตก ทอดที่สวยงาม ควรอยู่อย่างจีรังยั่งยืนคู่บ้านคู่เมืองนี้สืบไปค่ะ





จบจากการปาดปากหม้อช้าๆ ขากลับเราก็ปาดไปกินขนมโก๋อ่อนรสกลมกล่อมที่ ตั้งเซ่งจั้ว ระหว่างทางขากลับ ก็ทำให้ Slow Trip ครั้งนี้ก็สมบูรณ์ เพราะได้อิ่มทั้ง Slow Food และสุขในการใช้ชีวิตแบบ Slow Life ที่เราได้หย่อนตัวหย่อนใจให้ละเมียดกับสิ่งที่เราสัมผัสอยู่ข้างหน้า ณ ขณะนั้น


ขอบคุณแรงสนับสนุนจากครูเจี๊ยบ - สุธีรา จำลองศุภลักษณ์ มอบภาพงามๆ มาให้แปะนะคะ ส่วนภาพมัวๆ สู้เขาไม่ได้ คือฝีมือฉันเอง