วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

'ต่าง' แล้วทำไมต้อง 'แตก'

เมื่อเช้าเพื่อนสาวขาประจำโทรมาทักทายเหมือนอย่างเคยก่อนที่เธอจะพุ่งตัวไปทำงาน แล้วง่วนๆๆๆ รักษาคนไข้ที่มาออกันเต็มโรงพยาบาลเหมือนอย่างเคยเช่นกัน

เพื่อนคนนี้...เธอเป็นคุณหมอค่ะ ฉันกับเธออยู่บนโลกใบเดียวกันแท้ๆ แต่กลับมองเห็นโลกในมุมมองที่ต่างกัน เธอมีชีวิตที่มองเห็นเลือดเห็นหนองอยู่เป็นประจำ ส่วนฉันมองเห็นสีต่างเฉดต่างโทนที่ดูสดใสกว่า เธอมองเห็นแก่นแท้ที่เป็นจริงของชีวิต เรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงกลายเป็นเรื่องธรรมดา ฉันมองเห็นความรื่นรมย์ที่ปรุงชีวิตให้มีสีสัน เรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงกลายเป็นเรื่องที่ทำให้จิตตก หมองหม่น ไม่สดใส

เธอมองว่ารองเท้าราคาเป็นพัน ต้องเต็มด้วยเนื้อหนัง มีหนังหุ้มมิดชิด เดินคล่อง สวมใส่สบาย ฉันมองว่ารองเท้าราคาเป็นพัน ต้องมีดีไซน์โดนใจเป็นที่ตั้ง ลองใส่แล้วเก๋กู๊ดก็ซื้อเลยทันที (พอสวมใส่ไปนานๆ เฮ้อ ! เท้าปูดบวมได้ทุกทีสิน่า) ฉันมองเห็นทุ่งหญ้า ป่าเขา ลำธาร น้ำตก เป็นธรรมชาติที่ทำให้ฉันตะลึงพรึงเพริศ เธอกลับมองเห็นว่าความศิวิไลซ์ จะช่วยเติมพลังให้กับชีวิตได้ เพราะชีวิตที่เป็นอยู่ เห็นแก่นแท้ เห็นความธรรมดา เห็นความเป็นธรรมชาติมามากแล้ว

เราสองคนพูดคุยในเรื่องความต่างของชีวิตได้ทุกวี่วันอย่างสุขใจ ใครว่าคนคู่ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนคู่ คนรักคู่ หรือพี่น้องคู่ หากมีความต่างกันมากๆ แล้วความเป็นคู่จะจบสิ้นลงได้ง่าย ฉันว่าไม่ใช่อย่างงั้นเสมอไปหรอกค่ะ ความต่างมีกันได้ แต่สิ่งสำคัญคือ 'วิสัยทัศน์' ต่างหากที่ต้องมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน เห็นตรงกัน เออออ เยส ใช่เลย ! แบบเดียวกัน ส่วนรายละเอียดที่จะพุ่งตรงไปสู่จุดหมายนั้น จะต่างจะแตกยังไง ฉันว่ามันเป็นสีสันทางความคิด ต่างกันก็ได้คิด แตกกันก็ได้ปรับจิตปรับใจ ลด ละ วางทิฐิ แล้วหันมาจูนคลื่นให้ตรงกันจนเกิดความ 'เข้าใจ' ชีวิตจึงเป็นการเรียนรู้ไม่จบสิ้น เพราะศิลปะในการใช้ชีวิตมีตั้งหลายบทให้ลองปฏิบัติ

คำว่าวิสัยทัศน์ที่เราฟังจนชินจนดูเชยนั้น มันจึงเป็นกุญแจดอกสำคัญของการมีชีวิตที่ไม่แตกแยก และมันก็เป็นตัวการที่ทำให้เราโอนอ่อนผ่อนตาม ยอมอ่อนไม่ยอมหัก และจูนกันจนเจอคำว่า 'เข้าใจ' เมื่อความเข้าใจเกิดขึ้น ความแตกก็ไม่เกิด จะแตกกันไปทำไมคะ เห็นข้อดีของความแตกกันบ้างมั้ย นั่นไง ต้องคิดหาเหตุผลของข้อดีในความแตกกันนานเชียว อย่าเอาความต่างมาเป็นข้ออ้างของความแตก มองที่จุดหมายหลักใหญ่ได้ใจความกันดีกว่า ในรายละเอียดปลีกย่อยจะเป็นอย่างไร ขอให้คุณได้คิดถึงคำว่า 'ศิลปะในการใช้ชีวิต' ดีกว่า หากรู้แต่ทฤษฎีแต่ไม่ฝึกปฏิบัติเสียที จะสอบผ่านได้คะแนนเต็มกันได้ยังไงคะ

จริงมั้ยแม่หมอเพื่อนรัก

วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

สติ 'รำลึก'


วิธีที่ทำให้ผู้คนฉุกใจคิด ระลึกถึงสติ เห็นพลังความสำคัญของสติ และนำสติมาเจริญตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว มีตั้งหลายอย่าง แต่ที่หลายๆ คนเข้าใจตรงกัน คือภาพของการนั่งสมาธิ นั่งพับเพียบเรียบร้อยอยู่ตรงมุมสงบในวัดใดวัดหนึ่ง เมื่อความสงบเกิด สมาธิมา สติก็จะตั้งมั่น เป็นสูตรสมการสร้างเสริมสติที่เราต่างคุ้นเคยกันดี

'สติ' ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ตามมุมวัด หรือพร้อมที่จะมีพลังแรงกล้าเมื่อเข้าเขตรั้ววัดแค่นั้นหรอกนะคะ มันมีพลัง และตั้งมั่นอยู่ในใจเราได้อย่างเข้มแข็งก็ต่อเมื่อจิตของเราสงบนิ่ง ไม่ปรุงแต่งอารมณ์ให้ฟุ้งไปเรื่อย มีหลายคนที่นานๆ ทีถึงจะเยื้องกรายเข้าวัด แต่สามารถนำทางชีวิตให้ผ่านพ้นอุปสรรคหรือปัญหารายวันไปได้โดยมีธงชัยแห่งความสำเร็จโบกมือหยอยๆ รอทักทายอยู่ข้างหน้า นั่นก็เพราะว่าเขาได้ใช้ปัญญานำร่องเบิกทางก้าวเดินไปถึงจุดหมาย...แล้วปัญญาเกิดจากอะไรล่ะ ถ้าไม่ใช่สูตรสมการที่คล้องทางธรรมดังกล่าวข้างต้น

ฉันเองมีชีวิตที่ใกล้ชิดวัดมาแต่ไหนแต่ไร แรกๆ ที่ยังเป็นมนุษย์เงินเดือนก็เข้าวัดทำบุญ นั่งพับเพียบพนมมือต่อหน้าองค์พระประธาน พูดจ้ออธิษฐานขอโน่นนี่ท่านไปเรื่อย หารู้ไม่ว่าไร้ผล เพราะกายชิดธรรมจริง แต่ใจนั้นห่างไกลโลด อยู่ในวัดสงบได้สักเดี๋ยว พอออกนอกรั้ววัดได้แป๊บเดียว อ้าว..สติฟุ้งกระเจิงเหมือนเดิมอีกแล้ว จนกระทั่งได้ค่อยๆ เรียนรู้จักการปลด ปลง ละ วางความเป็นตัวกูของกูลง ไม่ปรุงแต่งความคิดให้มากสีสันตามอารมณ์คิดฟุ้ง

เพียรฝึกตนและปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมทั้งฝึกการคิดอ่าน คือยังไงก็คิดบวกไว้ก่อน ทำอยู่พักใหญ่ วันนี้จึงได้เข้าใจว่าที่เขาบอกว่า "มีสติอยู่กับตัวจะไปกลัวอะไร" ประโยคนี้ไม่ใช่คำพูดที่ระลึกได้เมื่อกลัวผี หรือกลัวสิ่งที่ชวนกลัวๆ ทั้งหลาย แต่สติอยู่กับตัวจะช่วยทำให้เราเกิดความยั้งคิด คิดรอบ คิดลึก แล้วปัญญาก็จะปิ๊งใส พร้อมที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โอ้...ของดีมีค่าที่มีอยู่ในตัวเรา ไม่ต้องเสียสตางค์ไปซื้อหาจากไหน ดีอย่างนี้แล้วทำไมเราถึงไม่ปลุก 'สติ' มาใช้งานอยู่บ่อยๆ ล่ะ เรียกให้มาประชิดอยู่คู่ตัว ... อืมมม เอาแบบอยู่ถาวรไปเลยน่าจะเป็นการดี


โอกาสของการได้ออกไปท่องเที่ยวแบบวันเดย์ทริปก็มาถึงอีกครั้ง ทริปนี้จะเรียกว่าเป็นทริปปลุกสติก็ได้นะคะ เพราะก๊วนเพื่อนชี้ชวนว่าจุดหมายคือวัด วัด วัด แล้วก็วัดอีกแล้ว ฉันน่ะชอบเที่ยววัดเป็นทุนเดิม ไปทีไรได้ข้อคิดดีๆ เพิ่มเติมใส่ชีวิตทู้กทีไป ไม่คิดจะอิดออด ชวนไปก็ไปไม่อิดเอื้อน คราวนี้เราเลยขับรถชิวๆ ไปที่วัดม่วง อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ค่ะ ที่นี่นับเป็นตลาดนัดแห่งสติสำหรับฉัน เพราะวัดแห่งนี้มีทั้งความสงบและความสนุก

ที่ว่าสงบเพราะในวิหารแก้วนั้นสงบร่มเย็น ดึงใจให้นิ่งได้นานเชียว ที่ว่าสนุกก็เพราะตรงลานข้างๆ วิหารมีรูปปั้นเทวดาประจำราศีเกิด ประจำวันเกิด รวมทั้งมีรูปปั้นเปรตสูงชะลูด มีแดนนรกให้พ่อแม่ได้จูงลูกหลานมาพร่ำสอน ว่าถ้าลูกก่อกรรมทำชั่วนะลูกนะ ก็จะต้องไปชดใช้กรรมยังแดนนรกที่น่าเกลียดน่ากลัวอย่างที่เห็น

ส่วนที่เป็นไฮไลต์สำหรับวัดม่วง คือองค์พระพุทธมหานวมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ ซึ่งมีความสูงถึง 95 เมตร สร้างได้อย่างไรหากไร้ซึ่งความศรัทธา ที่น่าศรัทธาอีกอย่างคือแนวคิดที่มีการจัดสร้างคลังของเก่าโบร่ำโบราณ เก็บสะสมไว้เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้มาศึกษาหาความรู้ วัดแห่งนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่เป็นทั้งแหล่งปลุกสติ ปลุกความคิด และปลุกความรู้


ฉันชอบการออกทริปไปนอกเมืองก็เพราะอย่างนี้ ลีลาที่ซื่อๆ แต่งแต้มแบบพื้นถิ่น มันโดดและโดนใจดีค่ะ ดูอย่างของกินขึ้นชื่อของท้องถิ่นนั้นๆ สิคะ ฉันไปติดใจร้านก๋วยจั๊บข้างทางขากลับ เขาตั้งชื่อร้านว่า ก๋วยจั๊บแชมป์สุพรรณ สิ่งที่ติดใจมากกว่ารสชาติ คือรูปแบบการทำมาค้าขายของเขาค่ะ ดูเขาเนิบๆ ทำอย่างชำนาญ 'เนิบทำ' ไม่ได้หมายถึง 'เนิบช้า' นะคะ แต่เห็นวิถีของการทำมาค้าก๋วยจั๊บของเขาแล้ว ดูรื่นรมย์ทั้งคนกินคนขาย ก๋วยจั๊บใสถุงยังมัดปากถุงด้วยเชือกฟางเลย แม่ค้าวัยป้าแต่หน้าใสบอกฉันว่า "ใช้หนังยางรัดไม่เป็น ใช้ฟางรัดแบบเก่าถนัดกว่า" เห็นมั้ยคะว่าวิถีการใช้ชีวิตของคนนอกกรุง นอกจากจะใกล้ชิดกับธรรมชาติแท้ๆ แล้ว ยังดูเป็นธรรมชาติอีกด้วย
เพราะอย่างนี้ละมัง พวกเราถึงได้ชอบหนีกรุงพุ่งตัวออกนอกเมืองอยู่เรื่อยเชียว

วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

slow cake





การดำเนินชีวิตของผู้คนสมัยก่อน มีชีวิตอยู่อย่างพอเพียง เป็นมิตร พึ่งพิง ถ้อยทีถ้อยอาศัยกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาตลอด จนเมื่อวิถีโลกแปรเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรม สู่สังคมอุตสาหกรรมภายใต้ระบบทุนนิยม "ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป"

ในปี ค.ศ.1986 คาร์โล เพตรีนี นักหนังสือพิมพ์ชาวอิตาเลียนที่ขีดเขียนเรื่องราวในคอลัมน์อาหารและไวน์ ได้ก่อตั้ง Slow Food Movement ขึ้นมา เพื่อต่อสู้กับกระแสฟาสต์ฟู้ดที่เข้ามาสร้างมาตรฐานใหม่ทางด้านอาหาร ซึ่งได้ทำลายคุณค่าดั้งเดิมของอาหารท้องถิ่นไปเกือบจะหมดสิ้น Slow Food จึงหมายความถึงการเพาะปลูกและการผลิตที่เคารพกฎธรรมชาติ เคารพในภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้ การจูนเครื่องให้แช่มช้า ใส่ใจในทุกขั้นตอนของขบวนการทำอาหาร และพิถีพิถันในการคัดสรรวัตถุดิบมาปรุง จึงถือเป็นการนำร่องปรัชญาความแช่มช้า ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่จะช่วยฟื้นฟูชีวิตที่ล้นเกินให้กลับสู่ความสมดุลได้ดังเดิม

เป็นเวลาเกือบห้าปีแล้วที่ฉันจูนชีวิตตัวเองสู่ความเนิบช้า ไม่น่าเชื่อว่าคนที่ทำอาหารไม่เป็นอย่างฉัน จะเข้าครัวปรุงอาหารกินเองได้เกือบจะทุกมื้อ ที่สำคัญยังลุกขึ้นมาต่อยอดทำเค้กสูตรเบรกนมเนยและน้ำตาล จากที่ทำไว้กินเอง ก็เริ่มนำไปแจกจ่ายคนในครอบครัว แจกให้เพื่อนฝูง และลามไปเป็นงานอดิเรกที่ทำเงินให้ตัวเองได้อีกด้วย ใครจะรู้ว่าวันคืนสมัยก่อนที่เคยเป็นลูกมือให้แม่ ยามที่เข้าครัวทำขนมหรืออบเค้ก มันจะแทรกซึมเป็นกาฝากเกาะหนึบอยู่ในใจ พอเปิดอ้าออกมาก็เจอสิ่งชอบสิ่งนี้ และได้พัฒนาให้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทั้งอ่านข้อมูล เรียนรู้ ฝึกมือ สะสมชั่วโมงบิน จนกระทั่งชีวิตผูกติดกับ Slow Cake มาได้ปีกว่าๆ แล้ว

Slow Cake สูตรฉัน เริ่มตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบที่สดใหม่ ชั่งตวงสูตรที่ลดน้ำตาล มีเนยร่วมด้วยช่วยกันมันอยู่จิ๊ดเดียว ส่วนครีมที่อุดมด้วยไขมันไม่อิ่มตัว นำมาปรุง ปาด ให้น้อยที่สุด จะกินเมื่อไหร่ หรือคิดจะทำไปให้ใครกิน ก็ค่อยลุกมาทำทีละก้อน ทีละลูก เน้นทำเค้กที่มีส่วนผสมของผลไม้ซึ่งมีความหวานแทรกตัวอยู่แล้ว

ขึ้นชื่อว่าเค้ก ยังไงก็ถือเป็นของหวานปากที่มีภัยซ่อนอยู่ เช่นเดียวกับของหวานทุกชนิด หากกินมากเกินไขมันก็ล้นตัว ซึ่งจะว่าไปแล้ว ไม่ว่าจะกินอะไร ก่อนหม่ำควรชั่งใจคิด ถ้ากินไม่เลือก เน้นของทอด ของหมักดอง ของหวาน ของคาวที่อุดมด้วยกะทิ ชีวิตที่ก้าวไปไม่ถึงค่อนวัยก็คงเวียนเข้าออกโรงพยาบาลอยู่บ่อยๆ

Slow Life เป็นการใช้ชีวิตอย่างรู้จักยั้งคิด
Slow Food ก็เป็นการใส่ใจในการปรุงและกินอย่างรู้จักยับยั้งชั่งใจ
ให้เวลากับการใช้ชีวิตรอบด้าน คิดให้รอบคอบ วิเคราะห์ให้ลึก
ฝึกบ่อยๆ เดี๋ยวคุณก็คุ้นชินกับการยับยั้งชั่งใจและหันมาใช้ชีวิตแบบสโลว์ๆ ได้เอง

เกษตรแฟร์ 2553 (29 มกราคม- 6 กุมภาพันธ์)


Beautiful Mind & Creative Mind ...
การเดินกินลมชมผลิตภัณฑ์ในงานเกษตรแฟร์ นับวันจะเลือนลางลมหนาวที่มาคลอเคลียสัมผัสให้รู้สึกสดชื่นเบิกบาน แต่เสน่ห์ของผู้คนและสีสันของร้านรวงที่มาจำหน่ายสินค้า ยังไงก็ยังคงเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ใครต่อใครพุ่งตรงไปที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แทบจะทุกปี

ฉันชอบไปเดินงานเกษตรแฟร์ เพราะสาเหตุหลากหลายที่เปลี่ยนไปตามวัย แรกๆ ก็ชอบไปช้อปปิ้งเดินซื้อของจนบ่าเอียงไหล่ทรุด หนักเข้าต้องเรียกบริการรถเข็น ไม่รู้บ้าซื้ออะไรนักหนา หลังๆ ซื้อแต่พองาม เอากระเป๋าล้อเลื่อนประจำตัวติดไปด้วย วัยกระดูกเสื่อมแล้ว จะทำไรต้องเกรงใจเขาหน่อย ไม่งั้นมีงอนออกอาการอักเสบ ทำให้เจ็บปวดโอดโอยอยู่บ่อยๆ

แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นสาเหตุหลักให้ฉันไปงานเกษตรแฟร์ทุกครั้ง นั่นก็คือความสดใสน่ารักของสรรพสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นร้านค้านิสิตหน้าใสที่ใจยังใสปิ๊งเปี่ยมพลัง โลกของพวกก็เลยดูสดใส ยังไม่ถูกฉาบด้วยสีสันที่จัดจ้านปลอมปน ไปเห็นทีไรก็รู้สึกสดชื่นตามพวกน้องๆ เหล่านั้นไปด้วย ฉันชอบโลกที่แวดล้อมแบบนี้จัง โลกที่เอื้ออาทร แบ่งปัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

นอกจากนี้ยังมีร้านค้าของบรรดาพ่อค้าแม่ขาย นำต้นไม้ สัตว์เลี้ยง สินเกษตร สินค้าอุปโภคและบริโภคมาวางขายกันเต็มพรึด บางร้านคนรุมตรึมเพราะมีครีเอทีฟมายด์ ชนะเลิศด้านความคิดสร้างสรรค์ เช่น เอาตะแกรงพัดลมมาทำเป็นโมบายตกแต่งต้นไม้ประดับประดา มีของเล่นน้องหมาที่เป็นรูปไก่คอยาวๆ บีบแล้วร้องเสียงหลงเหมือนกำลังถูกเชือดลั่นไปทั่วตลาดนัดติดแอร์ เรียกรอยยิ้มของผู้คนได้เยอะเชียว อีกทั้งนวัตกรรม งานวิจัย โซนที่ถูกใจคุณผู้ชายหลายคน และโซนฝึกอบรมวิชาชีพ สอนทำกิมจิ สังขยา ถั่วเคลือบ ปั้นสิบ โอ๊ย..สารพัดจะสอน ถูกใจคุณๆ ผู้หญิงยิ่งนัก

ไม่ว่าโลกจะร้อนขึ้น น้ำมันจะแพงขึ้น การบ้านการเมืองจะระอุขึ้นเพียงใด
ชีวิตก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป อย่าไปปรุงแต่งอารมณ์ให้ร้อนรนตามสิ่งกระตุ้นภายนอก ชีวิตยังต้องกิน ยังต้องใช้ ... ทั้งคนขาย ทั้งคนซื้อ จะทำอย่างไรให้ซื้อขายกันอย่างพอดีและพอเพียง ชีวิตที่พอดีและพอเพียง จะช่วยให้โลกที่กำลังร้อนขึ้นเรื่อยๆ ใบนี้ ค่อยๆ เย็นลงขึ้นได้นะคะ

วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ตลาดเก่าอ่างศิลา old days...old friend

The missing piece
ใครจะคิดว่าเราจะเวียนวกกลับมาเจอกันอีก ทั้งๆ ที่เวลาก็หมุนผ่านไปเรื่อย ย้อนรอยกลับไปนับ อู้หู...เป็นเวลา 20 ปีเชียวนา เหมือน The missing piece ที่หายไป กลับมาเจอกันคราวนี้ ฉันใช้ชีวิตสโลว์ดาวน์แล้ว เธอซึ่งนิ่งเนิบดูสโลว์มาแต่ไหนแต่ไร ก็ยังคงคิดอ่านอย่างคนสุขุม มีเหตุนำ มีผลตาม ตอบโจทย์ไม่มีมั่ว จะผิดกับวันก่อนก็ตรงที่หน้าที่การงานของเธอนั้นแบกภาระล้นเหลือ (แต่ไม่เกินกำลังเธอคนนี้หรอกนะคะ) เธอที่ว่าคือครูเจี๊ยบ... ครูใหญ่แห่งชมรมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพื่อผู้สูงวัย (OPPY by Loxley)

ฉันยังจำรอยยิ้มใสๆ ติดจะขี้อายในวันก่อนของเธอได้ วันนี้ยิ้มใสกลายเป็นยิ้มแปล้สะท้อนความจริงใจอย่างออกนอกหน้า คนขี้อายไม่มีอีกแล้ว อย่าให้เธอจับไมค์ยืนอยู่หน้าชั้นเชียว เป็นได้สวมวิญญาณครูผู้ให้ความรู้ได้ตลอดเวลา ถามอะไรเธอออกไปเถอะ เธอลากคำตอบมาคลายใจให้ได้โม้ดดด และก็คลิกคำว่าslow life ได้อย่างง่ายดายไม่ต้องถกกันยาว ดังนั้น The missing piece ชิ้นนี้ เอ๊ย..คนนี้ ก็เลยกลายมาเป็นครูผู้ให้ มาเติมเต็มการสานต่อแนวคิดการใช้ชีวิตเนิบช้าที่เต็มไปด้วยสติ มีวินัย เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีรอบด้าน โดยการเปิดหน้าเฟซบุ๊คและเว็บบล็อค จนกำเนิดเป็น slow life club ผ่านสื่อออนไลน์ขึ้นมา

ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่พอดี ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ง่ายๆ ธรรมดาและเป็นธรรมชาติ...
ทำไมคนเราถึงได้อยากสัมผัสใกล้ชิดกับธรรมชาติกันนัก ถามไถ่กันไปมาฉันก็ได้คำตอบกับตัวเองว่า ก็เพราะธรรมชาติทำให้จิตใจเราสงบ ความธรรมดาทำให้ใจเราไม่คิดเคร่งเครียด และความเรียบง่ายก็ทำให้เราทำตัวตามสบายได้โดยมิต้องผ่านการเฟคแต่งแต้มให้สังคมตอบว่าสอบผ่าน

ดูอย่างตลาดเก่า ตลาดโบราณ หรือตลาดน้ำแต่ละแห่งสิคะ ทำไมมันบูมตูมตามได้ไม่หยุดหย่อน เพราะจุดขายเขาคือเสน่ห์งดงามของวันวาน ความจริงใจใสซื่อ ความเป็นธรรมชาติที่เรียบง่าย นี่คือสิ่งอินเทรนด์ที่คนเมืองโหยหา สังคมคนเมืองมันหมุนเร็วพัฒนาไว ต้องคิด ต้องแข่ง ต้องแย่ง ต้องชิง ต้องเร็ว ต้องรีบ ต้องลัด ต้องเร่ง วุ้ย......ต้องอย่างโง้นต้องอย่างงี้ เล่นเอาคนเมืองหลายคนโดนโรคเครียดรุมเร้า เครียดหนักเมื่อไหร่ก็เป็นอันต้องวิ่งเข้าหาธรรมชาติให้ช่วยบำบัด



ชีวิตที่ไม่ฝืน และเป็นอยู่แบบใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด คือชีวิตที่ห่างไกลโรคภัยรุมเร้า
ดูอย่างภาพซื่อๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดเก่าอ่างศิลากว่าร้อยปีแห่งนี้ เขาคิดจะขายกางเกงชาวเลสีสันแป๊ดๆ สุดจะคัลเลอร์ฟูลก็แขวนขายโท่งๆ ประชันหน้ากับครกของดังเมืองอ่างศิลาด้วยใครจะทำไม พืชผักริมรั้วในตะกร้าเปิดหน้าบ้านอ้าซ่าให้คนเลือกซื้อไปปรุงกิน วันนี้ไม่เดินซูเปอร์ฯ ซักวัน พืชผักไม่ซ้ำหน้าเหล่านี้แหละ จะช่วยให้สุขภาพได้สารอาหารที่ไม่จำเจ

ปลาจวดที่เขาพูดทักคนออกแนวติดลบ อ๋อ..หน้าตามันแหลมๆ งอๆ ไร้อารมณ์อย่างนี้นี่เอง กล้วยทอดรองใบตองใส่ถุงกระดาษห่อขายพออิ่ม ข้าวแต๋นเอาไปแช่น้ำแตงโมให้ออกเป็นสีชมพูแล้วลงทอด พอสะเด็ดน้ำมันแล้วราดน้ำเชื่อม ใครไม่ชอบหวานมากบอกคนขายได้เลยค่ะ เขาเต็มใจราดให้ตามใจคนกิน ลูกชุบลูกเบ้อเห้งปั้นเป็นลูกไหน ช่อองุ่น สารพัดผลไม้ คุณลุงคนขายครีเอทปั้นได้งดงามดึงดูดใจคนมายืนออขอซื้อหมดกระบะแต่หัววัน

เดินไปเรื่อยๆ ก็ไปเจ๊อะกับผัดหมี่สีบ้านๆ แม่ค้าตักจ้วงให้แน่นเปรี้ยะเต็มถุงขายราคา 30 บาท อู๊วววว...อิ่มท้องทั้งครอบครัว ห่อหมกห่อละ 10 บาท อย่าคิดว่าเปิดข้างในแล้วจะเจอห่อๆ หมกๆ ซุกไว้จิ๊ดเดียว โทษทีค่ะ ไซส์ปกติเหมือนห่อหมกคนเมือง แล้ว ยังอร่อยไม่แพ้กันอีกด้วยยยย

one day trip ที่อ่างศิลา ถือเป็น slow life in slow city อย่างแท้จริง
พ่อค้าแม่ขายต่างนำสิ่งที่ตัวเองรักและชอบ ถนัดและชำนาญ นำต้นทุนที่ตัวเองมีมาสร้างงานสร้างรายได้ให้กับตัวเอง ไม่ต้องมีการตลาดมาช่วยก่อกระแสให้ดังโครมคราม แต่ของดีที่ออกมาจากใจจริงๆ อย่างที่เป็นอยู่นี้ จะอยู่ได้นาน พูดกันปากต่อปาก นับเป็นการตลาดที่กระเพื่อมแรงโดยแท้

เพราะของแท้แน่จริง ยังไงก็ไม่มีวันล้มหายตายจากกันไปง่ายๆ หรอกค่ะ คุณว่างั้นมั้ย